การฟังเป็นทักษะอันหนึ่งในการเรียน ที่ประกอบไปด้วยทักษะสี่อย่างคือ การฟัง การพูด การอ่าน การเขียน ถ้าใครทำได้ดีทั้งสี่ทักษะนี่แล้วละก็เชื่อได้เลยว่า การเรียนของผู้นั้นจะต้องดีเยี่ยมไร้เทียมทานอย่างแน่นอน แต่การที่จะทำได้นั้นไม่ใช่ของง่าย และก็ไม่ใช่ยากจนเกินความสามารถ เมื่อมันคือทักษะ ดังนั้นจะเก่งได้ก็ต้องหมั่นฝึกฝนถึงจะทำได้ดี และสิ่งเหล่านี่ไม่ใช่พรสวรรค์แต่อย่างใด
มีการศึกษาวิจัยมาแล้วว่า คนเราสามารถคิดได้เร็วกว่าพูดถึง 4 เท่า สำหรับผู้ที่ฟังอย่างเลื่อนลอยนั้นจะได้ยินเฉพาะสิ่งที่อาจารย์พูด เขาจะพอใจแค่ยังตามอาจารย์ทันในห้องเรียนเท่านั้น นั่นคือเขาใช้ประสิทธิภาพของตัวเองเพียงแค่หนึ่งในสี่เท่านั้นเอง ! อีกสามส่วนที่เหลือ จะกลายเป็นเรื่องฝันกลางวัน เรื่องปัญหาชีวิตส่วนตัว หรือปัญหาหัวใจ ทำไมเราไม่เอาทั้งสามส่วนที่เหลือมาทุ่มกับการเรียนในห้องล่ะ เพราะมันจะทำให้เราเตรียมตัวสอบได้ง่ายและสบายขึ้นมาก ตามมาด้วยผลสอบที่น่าพึงพอใจอีกด้วย
ถ้าเราสามารถปรับพฤติกรรมของเราให้เกิดการฟังแบบกระตื้อรือร้นได้แล้วนั้น เราจะพบว่าชั่วโมงเรียนจะกลายเป็นประสบการณ์ที่น่าสนุกสนานเพลิดเพลิน หาใช่สิ่งที่น่าเบื่อหน่ายและยาวนานอีกต่อไป
ทีนี้เรามาดูเคล็ดลับของการฟังอย่างกระตือรือร้น กันเถอะ
การฟังอย่างกระตือรือร้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เราสามารถทำให้มันเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก มีเคล็ดลับอยู่นิดหน่อยเท่านั้น ถ้าเรารู้และลองทำดู เกรดที่สวย ๆ คงจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
1. มีพื้นฐานเรื่องที่จะฟัง
มีพื้นฐานเรื่องที่จะฟัง หมายความว่าเราต้องมีไอเดียมาก่อนบ้างว่าตอนนี้เรากำลังจะฟังเรื่องอะไร มีแนวทางบ้างนิดหน่อย นั่นคือเราต้องอ่านเนื้อหาวิชา หรือ หัวข้อมาก่อนที่จะเข้าห้องเรียน แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องรู้เรื่องนั้นอย่างดี เพราะถ้าเรารู้เรื่องดีแล้วเราจะมาฟังทำไม จริงมั้ย? การที่อ่านมาก่อนทำให้เราพอจะรู้ว่าอาจารย์จะพูดเกี่ยวกับอะไร ทำให้ตามได้ง่ายขึ้น ที่มากกว่านั้นเราจะเกิดคำถามหรือมีข้อสงสัยขึ้นตอนเราอ่านเอง และเราอาจจะพบคำตอบเมื่ออาจารย์บรรยายในห้อง หรือไม่เราก็ยกมือขึ้นถามอาจารย์ในเรื่องที่เราสงสัย ทำให้อาจารย์ประทับใจอีกต่างหาก
2. ปล่อยวางอคติใดๆ
โดยทั่วไปแล้วคนเราจะชอบหรือไม่ชอบสิ่งใดต่าง ๆ กันไป แต่เรารู้ไหมว่าการมีอคติเกี่ยวกับบางอย่างทำให้การฟังของเราอ่อนประสิทธิภาพลงได้ เช่น เราอาจไม่ชอบอาจารย์คนที่กำลังพูดอยู่ไม่ว่าในเรื่องส่วนตัว หรือไม่ชอบทรงผม เสื้อผ้าของอาจารย์ที่ทำให้เรารู้สึกขัดตา หรือไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียงวิธีการพูดของอาจารย์ที่ทำให้เราอยากหลับเหลือเกิน อย่าทำให้สิ่งเหล่านี้มารบกวนการเรียนของเราเป็นอันขาด ให้ปล่อยวางอคติต่างๆนั้นลงเสียเมื่อเข้าอยู่ในห้องเรียน พยายามใส่ใจที่เนื้อหาวิชามากกว่าที่ตัวผู้สอน บางทีอาจจะเป็นเนื้อหาวิชาที่เราไม่ชอบเสียเหลือเกิน (เราไม่ค่อยชอบเรื่องที่เรียนอยู่แล้วจริงมั้ย...?) ทำไงได้ในเมื่อเราต้องเรียน ก็ต้องทำมันให้ดีที่สุด ลืมเรื่องชอบไม่ชอบเหล่านั้นเสีย พยายามชื่นชมและใส่ใจกับมัน เมื่อเราไม่มีอคติหรือยึดติดกับเรื่องไร้สาระเหล่านี้แล้ว เราจะพบว่าการฟัง การเรียนรู้ของเรามันง่ายขึ้นมาก ลองดูสิ
3. นั่งอยู่แถวหน้า
การนั่งเรียนแถวหน้าอาจจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับบางคน แต่บางคนก็ชอบที่จะนั่งแถวหน้าเท่านั้น เคยสงสัยไหมว่าทำไมพวกนั่งแถวหน้าถึงเรียนดี เป็นเพราะเขาเรียนดีจึงนั่งแถวหน้า หรือเป็นเพราะว่าเขานั่งแถวหน้าแล้วจึงเรียนดี อันนี้ต้องพิสูจน์ ต่อไปนี้จะพูดถึงข้อดีของการนั่งแถวหน้าดูนะ
ข้อแรก การนั่งแถวหน้าแน่นอนต้องนั่งใกล้อาจารย์ที่สุดอยู่แล้ว ทำให้เราได้ยินเสียงอาจารย์ชัดเจน ดูกระดานก็เห็นชัดไม่ต้องใช้แว่นขยาย ที่สำคัญเราได้เห็นกิริยาอาการของอาจารย์ รู้ว่าอาจารย์เน้นตรงไหนเป็นพิเศษ ลองสังเกตดู อาจารย์บางท่านจะ ขมวดคิ้ว พยักหน้า เลิกคิ้ว เมื่อพูดถึงตอนสำคัญๆ ซึ่งถ้าเรานั่งอยู่หลัง ๆ จะมองไม่เห็นแน่นอน บางทีเราอาจรู้ข้อสอบจากการนั่งแถวหน้าก็ได้
ข้อดีอีกอย่างก็คือ ไม่มีสิ่งรบกวนเรามากนัก ถ้าเรานั่งแถวหลังๆ เราจะมองอาจารย์หรือกระดานผ่านหัวเพื่อน ๆ ถ้าคนข้างหน้าเราขยับตัว เกาหัว หรือหันไปคุยกับคนข้างๆ สิ่งเหล่านี้จะรบกวนสมาธิของเราด้วย ทำให้เบนความสนใจของเราไปจากสิ่งที่อาจารย์กำลังพูดอยู่ กว่าจะพาจิตใจให้กลับมาได้อาจจะพลาดประโยคเด็ด ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย แต่ถ้ากลัวอาจารย์จะเรียกถามละก็อย่ากังวลไปเลยเพราะอาจารย์มักจะไม่เรียกถามคนนั่งหน้าหรอก ส่วนมากแล้วอาจารย์จะเรียกถามคนที่นั่งอยู่ในระยะสายตา หรือแถวกลางๆไปจนถึงแถวหลัง ๆ มากกว่า
ความลับอีกอย่างที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไปคือการนั่งแถวหน้าเป็นการสร้างภาพพจน์ให้ดูดีขึ้นในสายตาอาจารย์ และทำให้อาจารย์จดจำหน้าของเราได้และรู้สึกว่าเราเป็นคนที่สนใจเรียนอีกด้วย (ได้คะแนนจากตรงนี้ก็มาก) ที่สำคัญแอบหลับไม่ได้ด้วย มันทำให้เราตื่นอยู่ตลอดเวลา เป็นการบังคับตัวเองอย่างง่าย ๆ อีกวิธีหนึ่ง
4. จดบันทึก
การจดบันทึกเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ถึงแม้เราจะมีหนังสือ เอกสารพร้อมแต่เราก็ต้องจด จดอะไรล่ะ ก็จดสิ่งที่สำคัญ ๆ จากที่เราได้ฟังมานะสิ ไม่ใช่การจดทุกคำทุกตัวอักษรบนกระดานนะ แต่เป็นการจดที่ได้จากการฟัง ผ่านการกลั่นกรองจากสมองของเราระดับหนึ่งแล้วถึงจดมันลงไป การจดยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการฟังของเราอีกด้วย เพราะมันทำให้เราต้องฟังอย่างตั้งใจ ฟังอย่างวิเคราะห์ ถึงจะจดลงไปได้ พอออกจากห้องเรียนแล้ว สิ่งที่เราจดนี่แหละจะมีค่ามากหาที่ไหนไม่ได้แล้ว การจดบันทึกที่ดีเป็นศาสตร์และศิลป์ ที่ต้องศึกษาเรียนรู้และฝึกฝน เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องที่เราควรรู้ไว้
credit - Dek-D . com
วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
1 ความคิดเห็น:
ดี ยัยต๋อม
มาเม้นแย้ว
ไปล่ะนะ
จาก เดียร์เองจ้า.....
แสดงความคิดเห็น